วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2550

บทความของ รศ.ยืน ภู่วรวรรณ "การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้"

.........ในปัจจุบัน เราให้ความสำคัญกับเครือข่ายการเรียนรู้ (Learning Network) เป็นอย่างมาก สำหรับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้สร้างโมเดลการเรียนรู้ขึ้น เรียกว่า Kasetsart University Learning Network : KULN โดยนำทฤษฎีของการจัดการสมัยใหม่ ที่จะต้องหาวิธีการจัดการที่ดี โดยไม่มองว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางอย่างเดียว แต่เป็นการมองในลักษณะของพันธมิตร (Alliance) ที่มีหลาย ๆ ส่วนมาทำงานร่วมกันมากขึ้น
ภารกิจของมหาวิทยาลัย คือการเตรียมนักศึกษาในวันนี้ เพื่อให้เข้าไปรองรับกับระบบงานใหม่ในอนาคต ส่วนจะมีวิธีการอย่างไรนั้น พื้นฐานทาง IT จะเป็นพื้นฐานสำคัญ และเนื่องจากการเรียนรู้ในปัจจุบันนั้นเป็นการเรียนรู้ที่แตกต่างจากอดีตอย่างสิ้นเชิง ซึ่งหมายถึงว่าทักษะ (Skill) ของงานต่าง ๆ กำลังเปลี่ยนแปลงไปและการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้วิธีการที่เคยใช้เมื่อในอดีตอาจจะไม่พอเพียงสำหรับการเตรียมตัวเด็ก/หรือนักเรียนในอนาคตได้
เนื่องจากการเรียนรู้เหล่านี้ ต่อไปจะต้องเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ที่เรียกกว่า New Knowledge และถ้าหาก New Knowledge เหล่านั้นวางอยู่ทั่วโลก ที่เรียกว่าเป้น World Know - ledge นับจากวันนี้ต่อไปจะไม่มีอาจารย์คนใดจะสอนนักเรียนได้หมด เพราะความรู้เกิดใหม่อย่างรวดเร็ว และจะต้องศึกษาหาความรู้ในรูปแบบที่เรียกว่า "เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต"
อีกประการหนึ่งที่ชี้ให้เห็น คือ การที่สิ่งแวดล้อมรอบตัวเรานั้นเติบโตเร็วกว่าที่เราพัฒนาไป ตราบใดที่พัฒนาการเราช้ากว่าสิ่งแวดล้อม นั่นคือการถอยหลังไปเรื่อย ๆ ในเรื่องนี้
กอร์ดอน มัวร์หนึ่งในวิศวกรอาวุโสของบริษัทอินเทล ชี้ให้เห็นว่าพัฒนาการของขีดความสามารถของคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารโทรคมนาคม มีพัฒนาการความก้าวหน้าเร็วมาก และมีอัตราเป็น 2 เท่าของคาบเวลาหนึ่ง เช่น เทคโนโลยีซีพียู ซึ่งจะมีขีดความสามารถเชิงประสิทธิภาพสูงขึ้นเป็น 2 เท่า ทุก ๆ 18 เดือน
...........ดังนั้นการเรียนการสอนก็ไม่ควรยึดติดกับวิธีเดิมในขณะที่สิ่งใหม่/หรือสิ่งที่กำลังพัฒนา เป็นไปเร็วกว่าที่คาดคิด สำหรับการเตรียมตัวนักเรียน/นักศึกษาในวันนี้ วันที่แหล่งความรู้ไม่ได้อยู่ที่โรงเรียนอย่างเดียว ไม่ได้อยู่ที่ครูจะคอยป้อนให้อย่างเดียว จึงจำเป็นที่เราต้องพิจารณาว่า ภาพจริงๆ ที่เราต้องมองสิ่งแรก คือ การเริ่มให้ความสำคัญกับคำว่า World Knowledge มากขึ้น
"เพราะฉะนั้นตรงนี้เอง ลักษณะของการมองห้องเรียนนั้นเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ถ้าเราไม่ปรับปรุงอะไร ในที่สุดระบบการศึกษาของไทย ก็จะมีต่างประเทศมาทำให้สลายได้ นี้ก็คือเขามีอิเล็กทรอนิกส์ เขามีอะไรที่ดีกว่าไทย"
World Knowledge เป็นสิ่งที่จะทำให้เรารู้ว่าจะนำสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นมาบูรณาการมาสร้างให้เกิดประสิทธิภาพการเรียนรู้ ให้เป็นเครือข่ายที่เรียกว่า Learning Network ได้อย่างไร การมองโครงสร้างที่เป็น Learning Network นั้น จึงจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนกรอบความคิด (consept) ไปบ้าง ซึ่งการเปลี่ยนกรอบความคิดนี้เองทำให้พบว่ากรอบความคิดของระบบโรงเรียนในอดีตนั้นใช้ไม่ได้
.........จากบทความในนิตยสาร Times ที่ว่า สภาพความคิดของครูที่เป็น "การสอน" นั้นจะหมดไป ครูจะต้องเปลี่ยนบทบาทใหม่ เปลี่ยนไปในลักษณะที่เป็น "ผู้กับกับ/หรือผู้ที่จะช่วย/หรือผู้แนะแนวทาง" ให้นักเรียนซึ่งผมพยายามที่จะเน้นให้เห็นความสำคัญข้อนี้มาตลอด แต่ก็ยังมีครูหลาย ๆ คนอาจจะไม่ค่อยเชื่อนัก ทั้งนี้เนื่องจากโครงการหลายอย่างถ้าหากจะพัฒนาเพียงด้านที่เรียกว่า Learning Network นั้น เราจะมองว่าจะต้องทำอะไร สิ่งที่เรามองอันแรก คือ มองโครงสร้างพื้นฐานของตนก่อน การมองของตนทำอย่างไรนั้น คือ เรามองในลักษณะว่าการดำเนินงานทุกอย่างจะต้องมีขอบเขตของเครือข่ายที่ครอบคลุม เช่น โรงเรียนจะสอนผู้ปกครองได้อย่างไร โรงเรียนจะสอนให้พี่มาสอนน้อง น้องมาสอนพี่ โรงเรียนนั้นจะสอนแบบแนวนอน ก็คือให้เพื่อนกับเพื่อนมีลักษณะของการสอนร่วมกัน ดำเนินกิจกรรมร่วมกันได้อย่างไร ส่วนของสำนักมาตรฐานนั้นมองตั้งแต่ตัวครูและตัวนักเรียนเองโครงสร้างพื้นฐานที่เราจะสร้างตัวเนื้อหาหรือ Knowledge โครงสร้างพื้นฐานในแง่ของบุคลากรหรือรูปแบบบางสิ่งบางอย่างที่เราจะร่วมงานกันต่าง ๆ สำหรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้เห็นกันแล้วว่าเข้ามาสู่รูปแบบที่เคลื่อนที่ ที่คล่องตัวมาก มีทั้งโทรศัพท์ โทรศัพท์มือถือ มีการใช้ระบบสื่อสารโทรคมนาคม มีโครงข่ายต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างมากมาย และถามว่าถ้าเราจะเตรียมเด็กเหล่านี้ไปอีก 10 ปีข้างหน้าควรมีอะไรบ้าง ก็ต้องลองคิดไปว่า 10 ปีข้างหน้าจะมีอะไรได้บ้าง
และตรงนี้เองที่ทำให้เกิดช่องว่างของการพัฒนา ช่องว่างนั้นคือครูจะเป็นบุคคลที่ติดตามเทคโนโลยีได้น้อยกว่านักเรียน เพราะนักเรียนนั้นเกิดมาก็อยู่ในสิ่งแวดล้อมของเขา ที่ได้รู้จักสิ่งต่างๆ ที่เป็นเทคโนโลยีได้มากกว่าครู เพราะฉะนั้นจุดนี้จะเป็นข้อจำกัดที่ต้องพัฒนา concept ของการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกันซึ่งในที่นี้ คือทำอย่างไรจึงจะเชื่อมโยงเครือข่ายไปที่บ้าน ระหว่างครูกับครู นักเรียนกับนักเรียน เป็นต้น
..........นอกจากนั้น จะพบว่า ณ วันนี้ ระยะทาง และเวลา ไม่ได้มีความหมายกับตัวเรา บุคคลที่อยู่ในลักษณะของการทำงานนั้นต้องทำในลักษณะที่เป็นแบบ "ตลอดเวลา" (Anytime) เวลาไหนก็ทำงานได้ โรงเรียนนั้นจะต้องเปิดทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง เช่นเดียวกับ 7 - Eleven จึงจะดำรงอยู่ได้ในอนาคตต่อไปได้ ขณะเดียวกันนักเรียนก็ต้องเข้าโรงเรียนได้ตลอด 24 ชั่วโมง นักเรียนจะต้องทำกิจกรรมจากที่ใดก็ได้ที่เรียกว่า "ทุกหนทุกแห่ง" (Anywhere) และในขณะเดียวกันใครก็ตามที่สนใจก็สามารถเข้ามาเรียนรู้ร่วมกันได้ เพราะฉะนั้นการใช้ทรัพยากรจะต้องทำในลักษณะที่เป็น "ทุกคน" (Anyone) จุดนี้เองเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องลักษณะการทำงาน ในเรื่องเทคโนโลยีหลาย ๆ อย่างมาใช้ ที่สำคัญที่สุดคือ
"อย่าแฟชั่นกับเทคโนโลยี" ในขณะเดียวกันจะต้องเข้าใจเทคโนโลยีว่าเรามีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ข้อจำกัดด้านต้นทุน เวลา และความรู้ ความสามารถบางอย่าง เพราะฉะนั้นจึงต้องพยายามมองในลักษณะของตนเอง อย่างไปมองว่ามีใครขาย ของใครดี เป็นต้น พยายามอย่าแฟชั่นตามสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น การเพิ่มสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เราสามารถทำได้เองนั้นมีมากมาย โดยเฉพาะเรื่องของเนื้อหา
โมเดลการเรียนรู้
โมเดลของการเรียนรู้ที่เรียกว่า "Learning Network" นั้นจะต้องพยายามทำการผสมผสาน การผสมผสานในความหมายนี้คือ อย่าแฟชั่น พอปฏิรูป
การศึกษา ทุกคนแห่กันบอกว่านักเรียนเป็นศูนย์กลาง พอบอกว่าระบบเป็นอย่างนี้ ๆ ก็ตามแฟชั่น ความจริงแล้วเราจะต้องเป็นตัวของเราเองในการผสมผสานสิ่งต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ลักษณะที่นักเรียนเป็นศูนย์กลาง หรือลักษณะของห้องเรียนเป็นฐาน หรือลักษณะเสมือนจริง หรือลักษณะที่เราเรียกว่าเป็นการ
ส่งข้อมูลแบบประสานเวลา (Synchronous) ของการทำงานพ้อมกันในเวลาเดียวกัน หรือในรูปแบบที่เรียกว่าการส่งข้อมูลแบบไม่ประสานเวลา (Asynchronous) ก็ตาม เพราะฉะนั้น นี่คือการผสมผสานตามความเหมาะสมของการสร้างเครือข่ายของการเรียนรู้ เครือข่ายของการเรียนรู้มันเกิดขึ้นได้ทุกขณะ ทุกเวลา ทุกสถานที่ ไม่จำเป็นที่จะต้องจำกัดตัวเองว่าจะต้องอยู่ในห้องเรียนเท่านั้น ตรงนี้เองเราคงจะต้องเปิดรูปแบบของการศึกษาเป็นลักษณะสภาพของความต้องการ การออนดีมานด์มากขึ้น ซึ่งก็หมายความว่าจะเรียนอะไร เรียนในลักษณะใดนั้นเราสามารถเปิดโอกาสให้เขานั้นมีโอกาสได้มากขึ้น ซึ่งเราเรียกตรงนี้ว่าเป็นการออนดีมานด์มากขึ้น
การออนดีมานด์ตรงนี้เองจำเป็นว่าครูจะต้องเปลี่ยนบทบาทตัวเองให้เป็น Knowledge Constructor ก็คือเป็นผู้ที่จะทำการสร้างให้เกิดสิ่งที่เราเรียกว่าเป็นความรู้ และให้เกิดความรู้นั้นใช้ได้ไม่รู้จักจบ (Reusable) แต่ไม่มีการสอนซ้ำ หรือพูดซ้ำ ๆ แต่จะทำอย่างไรที่ทำไปครั้งหนึ่งแล้วจะทำให้มัน Resuable ได้ตลอดเวลา หรือในลักษณะที่จะเรียกใช้เมื่อไรก็ได้ การเรียนรู้นั้นจำเป็นจะต้องหา "เครื่องมือ" มาใช้
ระบบในปัจจุบันนี้ทำอย่างไรจึงจะเรียนรู้ได้เร็วได้มาก และขณะเดียวกันมีต้นทุนต่ำ เครือข่ายการเรียนรู้เหล่านี้จะเป็นตัวช่วย เราสามารถสร้างเครือข่ายของสถานีวิทยุ ห้องสมุด ฯลฯ ที่เรียกว่าเป็นการเรียนรู้ที่ไม่จำเป็นต้องการ เรียนรู้ในเวลาเดียวกัน ในเวลา 24 ชั่วโมง นั้นเราจะต้องไปนั่งสอน 24 ชั่วโมงควรจะมีใครก็ได้เข้ามาช่วยให้เราสามารถทำงานได้ 24 ชั่วโมง และในขณะเดียวกันเราก็ต้องไม่มีวันหยุด ทำอย่างไรเราจึงจะไม่มีวันหยุดได้
ฉะนั้นระบบธุรกิจก็ดี ระบบดำเนินในปัจจุบันก็ดี ไม่มีอีกแล้วที่ว่าเริ่มเวลา 8.00 น. เสร็จ 16.00 น. เราจะเห็นว่าการทำในลักษณะนั้นเราจะอยู่ไม่ได้ การดำเนินงานนั้นจะต้องดำเนินงานในรูปแบบ 24 x 7 x 365 เพราะการเรียนรู้นั้นเกิดได้ทุกวินาที และถ้าเรียนรู้เกิดได้ทุกวินาทีจึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือซึ่งสามารถช่วยเราได้ มาเป็นตัวแทนของเรา เป็นที่ที่เราจะใช้เข้าไปทำการติดต่อได้ตลอดเวลา
สิ่งสำคัญที่อยากให้ครูทุกท่านเห็น คือการทำงานต่าง ๆ นั้นไม่ควรให้มีหลายขั้นตอนนัก การมีหลายขั้นตอนนี้ จะทำให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ (Transfer Knowledge) เป็นระบบที่ซับซ้อนเกินไป วิธีการที่จะลดขั้นตอนให้นักเรียนกับ Knowledge เข้าถึงกันได้นั้น ขอให้พิจารณาระบบที่เรียกว่า การใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์ (E-Service) มากขึ้น แม้กระทั่งห้องสมุดอาจารย์สามารถเข้าไปใน Britanica.com ซึ่งเปิดให้บริการสารานุกรมให้สืบค้นได้อิสระ หากถามว่าทำไมเขาสามารถให้เราเข้าไปค้นหาสารานุกรมได้เพราะแต่เดิมเขาต้องขาย คำตอบคือ ปัจจุบันนี้เขาบอกว่าขายเป็นเล่มนั้นมันเป็นไปไม่ได้แล้ว จึงต้องเปลี่ยนมาเป็นทำ E-Service นั่นคือสามารถเข้าสู่คนได้ทั้งโลก ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปแบบของการพิมพ์ ในรูปแบบของการถ่ายภาพ หรือในรูปของการสร้างระบบการสอนต่าง ๆ ลักษณะของอิเล็กทรอนิกส์ก็เข้ามามีบทบาทที่ทำให้โดยรวมแล้วเราสามารถสอนคนทั้งโลกได้ เช่น มหาวิทยาลัยเมธีกำลังจะเปิดสอนแบบ E-Learning จำนวน 500 วิชา วิชาหนึ่งนั้นมีคนเรียน 1 แสนคน ดังนั้นต่อไปนี้ใครอยากได้ปริญญาจากมหาวิทยาลัยเมธีนั้น ก็สามารถสมัครเข้าเรียนได้ และเรียนเมื่อไรก็ได้ ดังนั้นจะเห็นว่าถ้าเราอยากได้ปริญญาจากมหาวิทยาลัยใด เราก็สามารถมีโอกาสทำได้ง่ายขึ้นมาก เพราะฉะนั้นตรงนี้เอง ลักษณะของการมองห้องเรียนนั้นเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ถ้าเราไม่ปรับปรุงอะไร ในที่สุดระบบการศึกษาของไทยก็จะมีต่างประเทศมาทำให้สลายได้ นี้ก็คือเขามีอิเล็กทรอนิกส์ เขามีอะไรที่ดีกว่าไทย
รูปแบบของเทคโนโลยีนั้น ทำให้การศึกษาจะเน้นในรูปแบบของการสอนให้น้อยลง แต่ให้ผลมากขึ้น ขณะเดียวกันต้นทุนต้องต่ำด้วย เพราะฉะนั้นครูจะต้องเข้ามามีบทบาทของการที่จะสร้างความรู้ต่าง ๆ ขึ้นมา แทนที่จะเป็นลักษณะของการสอนอย่างเดียว ครูจะต้องปรับตัวเองให้ไปตามเทคโนโลยี และมองตัวเองให้เป็นการสร้างรูปแบบของการเรียนรู้แบบใหม่ให้มากขึ้น
โครงสร้างของการเรียนรู้แบบใหม่นี้มีหลายรูปแบบ เมื่อศึกษารูปแบบใหม่ ๆ หลาย ๆ แบบ ไม่ว่าจะเป็นโมเดลรูปแบบที่เราใช้เทคโนโลยีกับระบบซิงโครนัส หรือเราจะใช้เทคโนโลยีกับรูปแบบของอะซิงโครนัส ซึ่งมีการมองว่าถ้าเป็นอะซิงโครนัสแล้วเป็นโมเดลอย่างไร หรือเรามองว่าการเรียนแบบอะซิงโครนัสแล้วต้องมีแบบ 7 -Eleven ได้คือ 24 ชั่วโมง หรือถ้าเป็นอะซิงโครนัสได้ทุกคนสามารถที่จะเข้าสู่บทเรียนหรือการเรียนการสอนที่เวลาใด สถานที่ใด อย่างไรก็ได้ มีรายวิชาต่าง ๆ ให้เลือกตามอัธยาศัย อยากเรียนอะไรก็ได้ มีเป็นพันเป็นหมื่นวิชาที่จะให้ศึกษาเรียนรู้ รวมทั้งมีระบบออนไลน์ทางด้านห้องสมุด สำหรับห้องสมุดในปัจจุบันออนไลน์ได้อย่างที่เราไม่คาดคิด หยิบหนังสืออะไรต่าง ๆ ก็หยิบได้ แต่ ณ วันนี้การเข้าเป็นสมาชิกยังแพงอยู่
การทำ E-Service หรือแม้กระทั่งการค้นหาข้อมูลที่เราต้องการ ระบบข้อมูลก็จะช่วยค้นหาสิ่งที่ต้องการได้ว่าอยู่ที่ใด ณ ขณะนี้เว็บเพจทั้หมดในโลกมีประมาณ 25 พันล้านหน้า อยู่ในประเทศไทยประมาณ 1.2 ล้านหน้า จะเห็นว่าใประเทศไทยนั้นมีเพียงนิดเดียว เหมือนเข็มอยู่ในมหาสมุทรเลย และมีอะไรบ้าง เราจะต้องอาศัยเครื่องมือทางเทคโนโลยีมาช่วย
ในที่สุดโมเดลของโรงเรียน
หรือโมเดลของมหาวิทยาลัย หรือโมเดลของใครก็ตาม จะต้องก้าวสู่ยุคที่เรียกกันว่า
"E" ไม่ว่าจะเป็น E- School หรือ E-University ก็ตาม ในที่สุดแล้วเครือข่ายหรือเทคโนโลยีจะก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการสร้าง การเชื่อมโยงระหว่างปลายทางหนึ่งกับปลายทางหนึ่ง ที่เราเรียกว่า End-to-End เช่น นักเรียนกับครู ครูกับครู นักเรียนกับนักเรียน เป็นต้น เหล่านี้เป็นลักษณะที่มองปลายทางโดยไม่มีขั้นตอนต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง
เครือข่ายที่ว่านั้นให้ผู้ปกครองมาสัมพันธ์กับโรงเรียนได้ ศิษย์เก่าก็มีโอกาสเข้ามาเรียนได้ นักเรียน ป.1 ป.2 ป.3 ก็สามารถเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยยังได้ด้วย
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นการก้าวเข้าสู่ยุคของอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเตรียมความพร้อมของนักเรียนเพื่อก้าวไปสู่ศตวรรษใหม่ ในยุคใหม่ ซึ่งอีก 10 ปีข้างหน้ายังคาดคะเนได้ยาก แต่ 10 ปีข้างหน้าก็ต้องก้าวหน้ากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ขอให้ย้อนกลับไปดูว่า 10 ปีที่ผ่านมาแล้วนั้นมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง อีก 10 ปีข้างหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายมหาศาลกว่านั้น ซึ่งจะเห็นกันต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: